วิกฤตหนังสือพิมพ์ไม่อวสาน แต่ปาดเหงื่อ
ในโลกที่หมุนด้วยเทคโนโลยี หมุนเร็วยิ่งกว่าคลื่นความถี่ 4G แทบไม่น่าเชื่อว่าในรอบเกือบทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ 2550 – 2559 ภูมิทัศน์สื่อสิ่งพิมพ์ไทยในปัจจุบันจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
จากที่ 10 ปีที่แล้วนักข่าวภาคสนามส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กในการส่งข่าว ส่งข้อความผ่านทางอีเมล์ เพียงแค่ 5-6 ปีให้หลัง นักข่าวก็หันมาพิมพ์ข่าวบนสมาร์ทโฟน ส่งข้อมูลผ่านทางไลน์
กระทั่งวันนี้ Platform ของข่าวสารเปลี่ยนโฉมจากหนังสือพิมพ์ที่เป็น "กระดาษ" ใช้นิ้วมือทั้ง 5 นิ้ว จับ - สัมผัสกลิ่นน้ำหมึกได้ ย้ายไปอยู่ในโลกออนไลน์ ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ แทปเล็ต และโทรศัพท์มือถือ
หนังสือพิมพ์ที่เป็น “สื่อกระดาษ” จึงถูกจัดว่าเป็นธุรกิจ Sunset เป็นธุรกิจที่รอวันตกจากฟ้า
ผนวกกับช่วงที่ธุรกิจซบเซาทั้งโลกมีผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทย ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของคนก็เปลี่ยนแปลง กระทบยอดจำหน่าย - จำนวนโฆษณาอันเป็น "รายได้" หลักของหนังสือพิมพ์ ลดลงฮวบฮาบ
สื่อทุกฉบับจึงเผชิญวิกฤติหลายเด้งคล้ายกัน เช่น ภาวการณ์ “ขาดทุน”
“ราชดำเนิน” เล่มนี้จึงอาสาสำรวจตลาด “หนังสือพิมพ์” ไทย ว่าแต่ละค่ายต้องปรับตัวรับมือปัญหาอย่างไร ในช่วงที่การเมืองผันผวนดังพายุ เศรษฐกิจซบเซา น้องๆ ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 บวกกับเทรนด์บริโภคข่าวสารของโลกเปลี่ยนแบบก้าวกระโดดปานสายฟ้าแลบจากอะแนล็อกมาสู่ยุคดิจิทัล
เครือโพสต์นสพ. ในเครือบริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) มีด้วยกัน 3 ฉบับ คือ Bangkok Post โพสต์ทูเดย์ และ M2F ที่ผ่านมาขาดทุนจากการไปทำลงทุนทีวี จึงต้องปรับลดต้นทุน รวมถึงค่าใช้จ่าย โดยเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของบริษัท และได้ปิดกิจการ Post TV ซึ่งมีพนักงานนับร้อยคน โดยจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย
โดยภาพรวมเครือโพสต์ในรอบปีที่ผ่านมา ไม่มีการปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงาน และลดหน้า นสพ. ในวันทำการ รวถมึงวันหยุด และวันเสาร์-อาทิตย์ ลดการเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อลดการใช้ยานพาหนะของบริษัท งดเบี้ยเลี้ยงการเดินทาง ลดการทำงานนอกเวลาเพื่อประหยัดค่า OT
และหากมีนักข่าวลาออก ก็จะไม่รับคนเพิ่ม
สำหรับมาตรการอื่นๆ เช่น ประหยัดไฟในบริษัท ลดสวัสดิกรพนักงานเจ็บป่วย ให้เน้นใช้ประกันสังคมก่อนใช้บริการแพทย์ของออฟฟิศในการส่งตัวไปรักษาตามโรงพยาบาลที่มีคู่สัญญา งดเบี้ยค่าเลี้ยงรับรอง รวมถึงงดส่ง นสพ. ให้พนักงานที่บ้านอ่านทุกเช้า โดยเฉพาะ พนง.ของ Bangkok Post แต่ให้เปลี่ยนมาดูใน e-paper แทน
เครือเนชั่นผู้บริหารของบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) ที่มีสื่อในมือหลากหลาย ทั้งทีวี อินเตอร์เน็ต และ นสพ. 3 ฉบับ ได้แก่ The Nation คมชัดลึก และกรุงเทพธุรกิจ ได้ส่งสัญญาณให้พนักงานรับรู้ตั้งแต่ปลายปี 2558 ว่าจะมีการรัดเข็มขัดการใช้จ่ายในองค์กรขนานใหญ่ เนื่องจากยอดโฆษณาตกลงอย่างน่าใจหาย กระทั่งต้องลดยอดพิมพ์ นสพ. บางฉบับ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเครือเนชั่น ยังพยายามทำให้การบริหารงานภายในอยู่ในสภาวะปกติที่สุด ยังมีการขึ้นเงินเดือนตามปกติ ตามผลประเมินการทำงาน พนักงานยังได้รับโบนัส ในอัตราสูงสุดคือ 50% ของเงินเดือน
แต่ก็ตัดลงค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าเขียนรายงานพิเศษลงใน นสพ. ที่สมัยก่อนเคยได้ แม้จะไม่มากนัก แต่ต่อไปก็ไม่มีแล้ว
หากมีคนลาออก จะใช้การบริหารจัดการบุคลากรภายในเพื่อทดแทนก่อน ถ้าเป็นตำแหน่งสำคัญจริงๆ ถึงจะรับคนเพิ่ม
ระยะหลังเครือเนชั่นหันไปหารายได้เพิ่มจากช่องทางอื่นๆ เช่น การจัดอีเว้นต์ขี่จักรยานตามจังหวัดต่างๆ โดยดึง อปท. และเอกชนในท้องถิ่นมาเป็นสปอนเซอร์
นสพ. ไทยรัฐแม้ยอดพิมพ์จะไม่แตะหลักล้านฉบับเหมือนที่เคยสูงสุดเมื่อกว่า 10 ปีก่อน แต่ นสพ. ของบริษัท วัชรพล จำกัด ยังเป็น นสพ.อันดับหนึ่งของเมืองไทยอยู่ดี
ค่ายสื่อหัวเขียวค่อยๆ ปรับลดค่าใช้จ่ายมาตลอดหลายปีหลัง เนื่องจากโฆษณาหายากขึ้น แต่ไม่มีการลดยอดพิมพ์เด็ดขาด แต่หันไปเน้นการเพิ่มรายได้จากออนไลน์ รวมถึงทีวีที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นแทน
มีการขอให้พนักงานร่วมกันประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น การใช้รถยนต์บริษัท หากไปทางเดียวกัน ก็ขอให้ไปด้วยกัน จากที่เดิมต่างคนต่างไป หรือ car pool หรือหากต้องการปริ๊นท์งานก็ขอให้เซ็นชื่อกำกับด้วย รวมถึงการยื่นเอกสารภายในต่างๆ เช่น ใบลา ก็ไม่ใช้กระดาษ แต่ให้ยื่นผ่านคอมพิวเตอร์แทน
ยังรับนักข่าวเพิ่มหากมีคนลาออกอยู่ พร้อมกับขึ้นฐานเงินเดือน ไม่ให้เหลื่อมล้ำจากค่ายอื่นๆ มาก แต่ลดโบนัสจากที่เคยได้สูงสุด 6 เดือน เหลือเพียง 3 เดือน ส่วน OT ไม่ได้ปรับลด เนื่องจากฐานเดิมไม่สูงอยู่แล้ว
ปรับวิธีการทำงาน เร่งปิดต้นฉบับให้เร็วขึ้น เพราะทางผู้บริหารไทยรัฐเชื่อว่า ถ้าวางแผงเร็วขึ้น ก็จะขายได้มากขึ้น
นสพ. เดลินิวส์หลังจากแยกทีวีออกไป ทำให้การบริหารจัดการภายในทำได้มีประสิทธิภาพขึ้น และผลประกอบการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม นสพ.เดลินิวส์ของ บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด ก็เหมือนสื่อสิ่งพิมพ์ค่ายอื่นๆ ที่ต้องปรับลดค่าใช้จ่าย และหาวิธีเพิ่มรายได้จากออนไลน์ ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่
ยังมีการปรับขึ้นเงินเดือนปกติ ตามผลประเมินประสิทธิภาพการทำงาน ในอัตรา 3-5% ไม่รวมถึงพนักงานที่มีอายุงานเกิน 5 ปี ที่ได้ปรับอีกครั้ง แต่หันไปลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ แทน เช่น ค่าเดินทาง รวมถึงโบนัสที่อาจได้น้อยลงจากเดิม
จะไม่รับคนเพิ่มแล้ว หากมีใครลาออกก็ให้ไปบริหารจัดการภายในโต๊ะกันเอง
ระยะหลัง ค่ายบานเย็นจะเน้นหารายได้เพิ่ม ด้วยวิธีเดียวกับที่สื่อตะวันตกใช้ คือลงโฆษณาที่มีพวกคูปองส่วนลดห้างร้านต่างๆ โดยหวังว่า จะช่วยกระตุ้นยอดขายให้คนอ่านซื้อ นสพ.นี้มากขึ้น
เครือมติชนหนังสือพิมพ์ค่ายประชาชื่นที่มีหนังสือพิมพ์ 3 หัว คือ มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ ก็ต้องลดค่าใช้จ่ายของสำนักงาน มีแคมเปญรณรงค์ให้พนักงานช่วยกันประหยัดน้ำ – ไฟ
การเบิกจ่ายค่ารถ ค่าเวรมีการตรวจสอบที่เข้มงวด รัดกุมจากฝ่ายบัญชีมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในปี 2559 ที่ผลประกอบการขาดทุนตั้งแต่ไตรมาสแรก ส่งผลถึงการตัดเงินโบนัสพนักงานครึ่งปีแรก จากช่วงปีที่ผ่านมาได้โบนัสปีละ 2 ครั้ง
พร้อมกับลดจำนวนหน้าของ นสพ.มติชน และ นสพ.ข่าวสดลง เหลือเพียง 24 หน้า อย่างไรก็ตาม เครือมติชน ก็เช่นเดียวกับค่ายหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ฉบับอื่นๆ ที่ปรับทิศทางไปที่การเสนอข่าวบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์เพิ่มมากขึ้นทั้งเว็บไซต์มติชนออนไลน์ ข่าวสดออนไลน์ และประชาชาติออนไลน์ และจะรุกโลกออนไลน์ด้วยการเปิดเว็บไซต์ของสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับอื่นๆ ในเครือ รวมถึงจัดอีเวนท์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี เพื่อดึงดูดเม็ดเงินโฆษณาที่ขาดหายไปจากหนังสือพิมพ์
นสพ.บ้านเมืองเป็นหนังสือพิมพ์หัวสีที่ก่อตั้งมา 44 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวกลางวิกฤติปี 2540 มาได้ แต่ในยุควิกฤติซึมลึกในปี 2559 บ้านเมืองเป็นอีกหนึ่งสื่อต้องรัดเข็มขัด แต่ด้วยเงินเดือนนักข่าวค่ายนี้ไม่สูงมากนัก ประกอบไม่มีโบนัสมาแต่ดังแต่ดั้งเดิมจึงทำให้เหลือนักข่าวเก่าๆ ที่ผูกโยงกับหนังสือพิมพ์มานาน แต่หากนักข่าวลาออกก็จะไม่รับคนเพิ่ม
เช่นเดียวกับฉบับอื่น บ้านเมืองจำต้องลดจำนวนหน้าลง จากเดิมที่มี 3 เซกชั่น เหลือ 2 เซกชั่น จำนวน 24 หน้า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในเบื้องต้น และในการประชุมบริษัทครั้งล่าสุด
ผู้บริหารขอให้ทุกกองเน้นส่งข่าวลงเว็บไซต์มากขึ้น เพื่อใช้เว็บไซต์มาหารายได้ทดแทน โดยมีแพ็คเกจจูงใจให้เอกชนมาลงโฆษณาที่เว็บไซต์พ่วงกับลงหนังสือพิมพ์ด้วย
นสพ.สยามรัฐอาจเปรียบได้ว่า “สยามรัฐ” เป็นหนังสือพิมพ์ที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยหลายยุค หลายช่วงเวลา มีแฟนคลับที่เป็นกลุ่มคนรุ่นเก่าๆ รุ่นเก๋าลายคราม แต่ทว่าช่วงที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้ใส่ใจหนังสือพิมพ์เหมือนในอดีต สยามรัฐก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองด้วยการลดจำนวนหน้าลง จาก 2 เซกชั่น เหลือเพียงเซกชั่นเดียว
นักข่าวถูกขอให้ส่งข่าวกลับโรงพิมพ์ให้เร็วขึ้นจากเดิม เพื่อต้องการปิดต้นฉบับในแต่ละวันให้เร็วขึ้น เพราะจะส่งผลไปถึงการลดจำนวนสายส่งหนังสือพิมพ์ไปยังต่างจังหวัด ขณะที่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของนักข่าวยังได้รับตามปกติ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ช่วงต้นปีที่ผ่านมาโบนัสเคยได้ประจำก็ไม่ได้เหมือนก่อน
นสพ.แนวหน้าอาจเป็น นสพ.พิมพ์ฉบับเล็กเพียงฉบับเดียวที่ยังไม่มีการขยับ ปรับ หรือ ลดจำนวนหน้าลง แต่ผู้บริหารเฝ้ามองสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อสิ่งพิมพ์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้ ยังไม่มีการออกมาตรการใดๆ ให้พนักงานประหยัดค่าใช้จ่ายในองค์กร หากนักข่าวลาออกก็ยังให้รับนักข่าวเข้ามาประจำการแทนปกติ โบนัสให้ครึ่งเดือนเท่ากับปี 2558 แต่ไม่มีการขึ้นเงินเดือน
จะเห็นได้ว่าหนังสือพิมพ์เกือบทุกค่ายในปัจจุบันต้องออกมาตรการ “รัดเข็มขัด” เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจซบ โลกเปลี่ยน
หากการออกมาตรการ “รัดเข็มขัด” เพื่อฝ่าแรงเสียดทานจากปัญหาต่างๆ ตามที่ “ราชดำเนิน” สำรวจมาข้างต้น มิใช่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ในวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก็ทำในลักษณะเดียวกัน
สรุปสถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ไทยในรอบปี 2016
source:
http://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4071:2016-08-10-10-42-50&catid=158:-31-2559
http://www.daonong.com/upimg/userup/0902/131I25AF6.jpg
http://econintersect.com/b2evolution/media/blogs/a/Screenshot%20-%20%2010_30_01%20AM%206_5_2013%20001.png
http://econintersect.com/b2evolution/media/blogs/a/Screenshot%20-%20%2010_30_01%20AM%206_5_2013%20001.png