ทฤษฎีสมคบคิดของสังคมไร้เงินสด
Cashless society ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์มหภาคบ้าง ยังไงอ่านบทความนี้โดยใช้วิจารณญาณนะครับ หลายอย่างเป็นความคิดเห็นเฉพาะบุคคลเมื่อปีที่แล้วมีข่าวแปลกๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศนโยบายดอกเบี้ยติดลบ เพื่อหวังกระตุ้นให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ เพื่อคาดหวังให้เกิดการลงทุนที่มากขึ้น เมื่อการลงทุนภาคเอกชนสูงขึ้น ประชาชนก็จะเริ่มมีรายได้มากขึ้น คนใช้จ่ายเงิน เพิ่มการบริโภค เมื่อเกิดการหมุนเวียนของเงิน เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นตามหลักทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ที่เคยเข้าใจกันในอดีต
ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ..?!?ผมเคยเขียนเล่าให้ฟังไปแล้ว ว่าทำไมทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ที่เคยใช้กันมันถึงล้มเหลว ปีที่ผ่านมาก็สะท้อนความล้มเหลวของการลดดอกเบี้ยอีกครั้ง หลัง BOJ ลดดอกเบี้ย สิ่งที่ขายดีเพิ่มขึ้นแบบสุดๆ ในประเทศญี่ปุ่นก็คือตู้เซฟนิรภัย..!!คนญี่ปุ่นซื้อตู้เซฟมาเพื่อถอนเงินจากธนาคารมาเก็บ (hoarding) ไว้ในตู้เซฟ แทนที่จะเอาไปใช้จ่าย เงินหายไปจากระบบไปอยู่ในตู้เซฟตามบ้าน การกักตุนเงินสดเร่งสภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่นให้รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
เอาล่ะครับ ไอ้แนวคิดที่ลดดอกเบี้ยหวังให้คนรีบใช้เงินหวังให้ธุรกิจรีบเร่งลงทุน ภาคประชาชนและภาคธุรกิจกลับกลัวอนาคตยิ่งขึ้น ถ้าคนแห่ถอนเงินมาเก็บใส่ตู้เซฟ ธนาคารกลางจะทำยังไงต่อไป..? ปัญหานี้เป็นแทบทุกประเทศพัฒนาแล้วนะครับ ลดดอกเบี้ย แต่คนไม่กล้าใช้จ่าย ธุรกิจไม่กล้าลงทุน เพราะไม่มั่นใจในอนาคต แต่ญี่ปุ่นนี่หนักที่สุดที่เห็นภาพได้ชัดเจน
วิธีแก้ของธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ ก็คือ พยายามสร้าง Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสดขึ้นมา..!!!มันคือการแก้ปัญหาแบบกำปั้นทุบดิน ธนาคารกลางไม่อยากให้คุณถอนเงินไปใส่ตุ่ม ก็ยกเลิกเงินสดซะ ให้คุณถอนไม่ได้ ประเทศสวีเดนเป็นประเทศแรกที่เริ่มดำเนินนโยบายการกำจัดเงินสดทิ้งไป Riksbank ธนาคารกลางของสวีเดน ให้ความเห็นว่าการใช้เงินสดในสวีเดนจะลดลงอย่างรวดเร็วจนเหลือสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับเงินอิเลคโทรนิคใน 20 ปีหลังจากนี้
ในปัจจุบันทั่วโลกมีปริมาณเงินสด ประมาณ 10% จากเงิน M2 อธิบายให้เข้าใจภาพง่ายๆ (แต่ไม่ครอบคลุมนัก) ว่า M2 คือเงินทั้งหมดที่เป็นเงินสดรวมกับเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารทั้งโลก เป้าหมายของ Cashless Society ก็คือกำจัดไอ้เจ้า 10% นี้ทิ้งไป
ทำไมต้องกำจัด..? เรามาทวนความเข้าใจกันอีกซักนิด
ที่ผ่านมาธนาคารกลางหลายประเทศ (ยกเว้นสหรัฐที่เพิ่งเริ่มกลับมาเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น) เชื่อว่าหน้าที่ของเขาคือจะต้องสร้าง “ระบบเศรษฐกิจในสภาวะดอกเบี้ยติดลบ (negative interest rates economy)” ให้กับโลกในระยะยาว เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน และการลงทุนของภาคเอกชน ด้วยความเชื่อว่าเมื่อเกิดการใช้จ่าย เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับมาได้ (ซึ่งในมุมมองผมเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่ผิด)
แต่ถ้าดอกเบี้ยติดลบจริง คนจะไม่ยอมเสียเปรียบธนาคาร เราจะฝากธนาคารไปทำไมถ้าจะทำให้เงินต้นลดลง..?
ทางออกของคนก็คือ ถอนเงินมาเก็บใส่ตุ่มซะยังจะดีกว่า ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น เราเห็นกันอยู่แล้วว่าเงินสดจริงๆ ในโลกนี้มีแค่ 10% เมื่อเทียบกับปริมาณเงินฝาก ธนาคารที่ลดดอกเบี้ยจนเข้าขั้นติดลบ จะไม่จูงใจให้คนฝากเงินอีกต่อไป ธนาคารจะเกิดวิกฤติ Bank Run คือคนแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร จนเกินกว่าเงินสดที่ธนาคารมีสำรองอยู่จริงและสุดท้ายธนาคารก็จะอยู่ไม่ได้ และจะล้มละลายในที่สุด
ดังนั้น มีนักคิดหลายคนที่มองเรื่อง cashless society เป็นทฤษฏีสมคบคิดแบบหนึ่ง (ยกตัวอย่างเช่น Martin Armstrong นักเศรษฐศาสตร์แหกคอกชื่อดังที่ทำนายราคาทองคำในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาแม่นเป๊ะยังกับตาเห็น)
Martin Armstrong เชื่อว่า นโยบายดอกเบี้ยติดลบ จะเกิดขึ้นจริงได้ ถ้าล้มระบบ “เงินสด” ในเศรษฐกิจโลกสำเร็จ เมื่อเงินทุกบาททุกสตางค์จะอยู่ในระบบอิเลคโทรนิค คุณจะไม่มีตุ่มให้ซ่อนเงินอีกต่อไป คุณจะไปต่อแถวถอนเงินออกจากธนาคารไม่ได้อีกต่อไป การเก็บภาษีด้วยการลดดอกเบี้ยติดลบ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น
รัฐคงหวังว่า เมื่อคุณเก็บเงินใส่ตุ่มไม่ได้ คุณจะเริ่มกลัวว่าเงินอิเลคโทรนิคของคุณจะลดค่าลงเรื่อยๆ คุณจะเหลือทางเลือกสุดท้ายคือ “รีบใช้เงินซะ ก่อนที่มันจะหมดค่า” เมื่อประชาชนเริ่มใช้เงิน เมื่อเอกชนเริ่มลงทุน สุดท้าย เศรษฐกิจก็จะฟื้น (ซึ่งย้ำอีกครั้งเป็นครั้งที่ร้อยว่า มันคือความเชื่อที่ผิด)
ไม่มีทางหรอกครับ ที่รัฐจะบังคับประชาชนได้!!
ถ้าเงินสดถูกยกเลิกจริงๆ ในอนาคต สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อประชาชนกลัวดอกเบี้ยติดลบ ก็คือ การโยกย้าย “เงิน” ไปเป็นสินทรัพย์อื่นๆ ที่จะช่วยคงอำนาจซื้อให้คุณได้ในระยะยาว ที่ดิน, ตลาดหุ้น, ทองคำ, (เว้นก็แต่พันธบัตรรัฐบาล เพราะมันก็จะติดลบตามดอกเบี้ย) สินทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นแหล่งพักเงินได้ก็จะเริ่มเฟ้อ และมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดฟองสบู่
ลองคิดกันดีๆ นะครับ ไอ้เจ้า negative interest rates economy นี่คือระบบเศรษฐกิจใหม่ที่จะคิด “ภาษีจากเวลา (tax on time)” ของคุณ ยิ่งเวลาผ่านไปนาน เงินคุณจะยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ มันเป็นกรรมสองชั้นจากภาวะเงินเฟ้อ คือในยุคข้างหน้า นอกจากของจะแพงขึ้นเรื่อยๆ แล้วเงินเก็บของคุณจะค่อยๆ ลดจำนวนลงเรื่อยๆ
ระยะยาวรัฐบาลพยายามรีดภาษีจากประชาชนมากขึ้นในทุกวิถีทางครับ
Income Tax หรือ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (tax on income)” นั่นคือ เมื่อคุณมีรายได้ คุณจะต้องแบ่งส่วนหนึ่งของรายได้ที่คุณหามาได้ให้กับรัฐบาล เฉพาะคนที่มีรายได้เท่านั้นที่จะเสียภาษีตรงนี้
VAT ก็คือ “ภาษีจากการบริโภค (tax on consumption)” ทุกครั้งที่คุณควักกระเป๋าใช้จ่าย รัฐบาลจะดึงเงินส่วนนึงไปจากคุณ (VAT นี้โหดกว่าภาษีบุคคลธรรมดาอีก เพราะมันเก็บกับทุกคนที่มีรายจ่าย โดยไม่สนใจว่าเค้าจะมีรายได้หรือไม่ เด็ก 5 ขวบซื้อไอติมก็ไม่เว้น)
QE ก็คือ “ภาษีจากการมีเงิน (tax on money)” ใครก็ตามที่มีเงินในกระเป๋า เงินของคุณจะเจือจางลงจากปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าคุณจะบริโภคหรือไม่ มีงานทำหรือไม่ (อันนี้โหดกว่า VAT เพราะ แม้แต่เด็ก 5 ขวบที่มีเงินในกระเป๋า แม้ไม่ซื้อไอติม เก็บเงินไว้เฉยๆ ก็จะโดนภาษีจาก QE)
และเมื่อคนยังไม่ยอมไม่ใช้เงิน Negative interest rates จึงเกิดขึ้น ซึ่งมันก็คือ “ภาษีจากเวลา (tax on time)” ใครก็ตามที่ถือเงินไว้นานๆ เงินคุณจะลดลงจากดอกเบี้ยที่ติดลบ (อันนี้โหดกว่า QE เพราะนอกจากมูลค่าของเงินจะจะเจือจางลงจาก QE แล้ว จำนวนเงินก็ยังลดลงจากอัตราดอกเบี้ยติดลบอีกด้วย)
นี่คือหนทางที่ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังก้าวเดินไปหลังจากนี้ รัฐบาลประเทศมหาอำนาจยังคงพิมพ์เงินปริมาณมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก, เริ่มเก็บภาษีจากการเก็บเงินของคุณ, บีบบังคับห้ามไม่ให้คุณเก็บเงินไว้ที่อื่นที่รัฐควบคุมไม่ได้ (ในตุ่ม)เมื่อประชาชนไม่เชื่อฟัง โยกเงินไปซื้อทองคำ โยกไปซื้อหุ้น โยกเงินไปซื้อที่ดิน รัฐบาลก็จะตามไล่ล่าคุณอย่างไม่ลดละ
ในอนาคตอาจจะมีการออกกฏห้ามอีกหลายอย่างเช่น ห้ามการถือครองทองคำ (อย่าขำไปนะครับ ปี 1933 รัฐบาลสหรัฐในยุคประธานาธิปดีรูสเวลท์ เคยออกกฏหมายห้ามการถือครองทองคำมาแล้ว), แร่เงิน, ขูดรีดภาษีเพิ่มขึ้นจากที่ดิน (ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีข้อเสียสำคัญคือ มันเคลื่อนที่ไม่ได้ อยู่ตรงนั้นให้รัฐรีดภาษีได้อย่างง่ายดาย)
อนาคตที่เรากำลังจะต้องเจอครับ สภาวะเงินฝืดขั้นรุนแรงจากความกลัวของคน แต่มีการบวมพองของสินทรัพย์บางประเภทจากการโยกย้าย “เงิน” ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ ตามด้วยการถูกตามล่าเงินของประชาชนจากรัฐบาลของพวกเค้าเอง
PS. นี่เป็นอีกเหตุผลที่ผมเชื่อว่า cryptocurency เป็นนวัตกรรมการเงินแบบ Cashless Society ที่ยอดเยี่ยม แต่สุดท้ายมันจะไม่รอดพ้นเงื้อมมือการไล่ล่าของรัฐบาลได้ (ยังไงก็ยังจะเชียร์นะ)
credit:https://www.finnomena.com/ran/cashless-society-conspiracy-theory/ http://i2.cdn.turner.com/cnn/2014/images/07/02/cashless_society.infographic.jpg https://i.ytimg.com/vi/nRwDrNwN27w/hqdefault.jpg https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEg9jgFplmymPi4Z770lIOUIDxWSIkSmOmLg05MpwxbAyPPpbvmq_hzNaDz9TfaVW09Q__-ILFtwDSyMrZQNMHTkGJJdzRknddDMLkLx7-62fH5_PzSNpsj6zD7xnibKGV4IiaThLhp9ow8/s1600/Problems-with-a-cashless-society.jpg
No comments:
Post a Comment