C L I C K

Wednesday, 4 May 2022

คริปโต: ตอน Cryptocurrency มีประเภทเหรียญแบบไหนบ้าง?

 ปัจจุบันมีเหรียญคริปโตฯ มากกว่า 9,600 เหรียญ แต่ละเหรียญก็มีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างกันไป บทความนี้จึงขอมาแยกประเภทเหรียญคริปโตฯ ให้นักลงทุนทั้งมือใหม่และมือเก๋าบนโลกคริปโตฯ ได้เห็นภาพชัดขึ้น ดังนี้

1. กลุ่มรักษามูลค่า (Store of Value)

เหรียญคริปโตฯ กลุ่มแรกคือ “กลุ่มรักษามูลค่า” เป็นเหรียญกลุ่มที่สามารถเพิ่มกำลังซื้อได้เมื่อเวลาผ่านไป และเป็นเหรียญที่มีอุปทานอย่างจำกัดดังเช่น เหรียญราชาแห่งโลกคริปโตฯ อย่าง “Bitcoin” ที่มีจำนวนอุปทานอย่างจำกัดเพียง 21 ล้านเหรียญ โดยจะแตกต่างกับสกุลเงิน Fiat ที่อุปทานไม่มีที่สิ้นสุดจากการพิมพ์ธนบัตรของธนาคารกลางแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเกิดภาวะเงินเฟ้อและทำให้สูญเสียกำลังซื้อไปเรื่อย ๆ

นอกจาก Bitcoin แล้วยังมีเหรียญในกลุ่มรักษามูลค่าอื่น ๆ อีกเช่น Litecoin (LTC), Bitcoin Cash (BCH) เป็นต้น

2. กลุ่มสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) 

เป็นเหรียญกลุ่มที่เป็นเครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งสามารถใช้ “สัญญาอัจฉิรยะ” (Smart Contract) ได้ โดย Smart Contract เป็นกระบวนการทางดิจิทัลที่กำหนดขั้นตอนการทำธุรกรรมแบบอัตโนมัติไว้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง ซึ่งจะทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างแพลตฟอร์ม DeFi รวมถึงแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ (Decentralized application: Dapp) บนเครือข่ายเหล่านี้ได้

ตัวอย่างเหรียญในกลุ่ม Smart Contract เช่น เหรียญ Ethereum (ETH), Cardano (ADA), Solana (SOL) และ Kusama (KSM) เป็นต้น

3. กลุ่ม Stablecoin

เหรียญคริปโตฯ กลุ่มนี้ถูกสร้างมาเพื่อทำให้มูลค่าของเหรียญมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วยการอ้างอิงกับมูลค่าของสินทรัพย์บางอย่าง ใช้สำหรับเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสกุลเงิน Fiat และสกุลเงินดิจิทัลในเรื่องของความมีเสถียรภาพ ความโปร่งใส และค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ต่ำ

Stablecoin แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ Fiat-Collateralized (อ้างอิงด้วยเงินเฟียต), Commodity-Collateralized (อ้างอิงด้วยสินค้าโภคภัณฑ์), Crypto-Collateralized (อ้างอิงด้วยคริปโตฯ) และ Non-Collateralized (ไม่อ้างอิงด้วยอะไรเลย)

ตัวอย่างเหรียญในกลุ่ม Stablecoin เช่น เหรียญ “USDT” และ “USDC” จัดเป็น Stablecoin ประเภท Fiat-Collateralized ที่อ้างอิงกับมูลค่าของสกุลเงิน Fiat อย่างดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) ในอัตราส่วน 1:1


4. กลุ่ม DeFi

“DeFi” ย่อมาจาก “Decentralized Finance” ซึ่งแปลว่า ระบบการเงินไร้ตัวกลาง โปรโตคอลและแพลตฟอร์ม DeFi ส่วนใหญ่ถูกสร้างบน Ethereum Blockchain จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า “โทเคน” (Token) โดยเหรียญ DeFi มักจะถูกตั้งชื่อตามเครือข่ายบล็อกเชนที่เป็นผู้ออกเหรียญนั้น ๆ และจะสามารถใช้งานได้บนแพลตฟอร์มของผู้ออกเหรียญหรือแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งมูลค่าของเหรียญจะมาจากความนิยมของแพลตฟอร์มผู้ออก รวมถึงความนิยมใน DeFi ด้วย

ตัวอย่างเหรียญในกลุ่ม DeFi เช่น Maker (MKR), SushiSwap (SUSHI), Uniswap (UNI), Pancakeswap (CAKE) และ Aave (AAVE) เป็นต้น


5. กลุ่มส่งต่อมูลค่า (Value Transfer)

เหรียญกลุ่มนี้เป็นเหรียญที่ถูกพัฒนาและออกแบบมาเพื่อส่งต่อมูลค่าผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเน้นไปที่ความสามารถในการทำธุรกรรมที่รวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างต่ำ เช่น เหรียญ “XRP” (Ripple) ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นสะพานเชื่อมต่อของสกุลเงิน Fiat ทำหน้าที่คล้ายระบบ SWIFT ในส่งเงินข้ามประเทศ

นอกจากเหรียญ XRP แล้วยังมีเหรียญในกลุ่มส่งต่อมูลค่าอื่น ๆ อีกเช่น Stellar (XLM), OMG (OMG Network) และ Velo (VELO) เป็นต้น



6. กลุ่ม GameFi

เหรียญกลุ่ม GameFi เป็นเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในเกมหรือโลกเสมือนจริง (Metaverse) โดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันกระแส GameFi มาแรงมาก เพราะนอกจากจะทำให้เราสนุกไปกับเกมได้แล้ว เรายังสามารถสร้างรายได้จากเกมได้ด้วย โดยรางวัลที่จะได้รับจากการเล่นเกมจะอยู่ในรูปของเหรียญในกลุ่ม GameFi ที่เป็นเหรียญหลักในระบบนิเวศของเกมนั้น ๆ ซึ่งเราสามารถใช้เหรียญ GameFi ที่ได้มาในการซื้อไอเทมต่าง ๆ ในเกม หรือจะขายบนกระดาน Exchange ก็ได้เช่นกัน

ตัวอย่างเหรียญในกลุ่ม GameFi เช่น Decentraland (MANA), The Sandbox (SAND), Axie Infinity (AXS) และ My Neighbor Alice (ALICE) เป็นต้น


7. กลุ่มเหรียญมีม (Meme Coins)

เหรียญคริปโตฯ กลุ่มสุดท้าย คือ “เหรียญมีม” เป็นเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อความสนุกโดยเฉพาะ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากมีม (Meme) ที่เป็นกระแสร้อนแรงบนโลกออนไลน์ เหรียญมีมที่ได้รับความนิยมและถูกกล่าวขานว่าเป็น “ราชาแห่งเหรียญมีม” คงจะหนีไม่พ้นเหรียญ “Dogecoin” (DOGE) แม้จะบอกว่าเหรียญมีมถูกสร้างขึ้นแบบสนุก ๆ แต่ราคาที่พุ่งขึ้นก็เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว All-time High ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2021 ทำให้มูลค่าของเหรียญ DOGE พุ่งขึ้นเกือบ 12000% จากช่วงต้นปี 2021 เลยทีเดียว ก่อนที่มูลค่าจะลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ราคาของเหรียญในกลุ่มมีมค่อนข้างผันผวน จึงเป็นกลุ่มเหรียญคริปโตฯ ที่เหมาะกับสายเทรดเดอร์ เน้นทำกำไรระยะสั้น

นอกจาก Dogecoin แล้วก็ยังมีเหรียญมีมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น Shiba Inu (SHIB), Dogelon Mars (ELON), Dogs of Elon (DOE) และ Samoyedcoin (SAMO) เป็นต้น




เครดิต:https://www.finnomena.com/planet46/what-is-cryptocurrency/

No comments:

Post a Comment